รู้เท่าทัน ฉลาดด้านดิจิทัล
ยุคปัจจุบันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมีความรวดเร็ว ก่อเกิดผลดีแก่ผู้คนที่ใช้งาน สร้างรายได้ ชื่อเสียง และการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว แต่ผลเสียที่เกิดจากใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด การถูกโกง กลั่นแกล้ง หรือถูกทำร้ายจิตใจ ที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ควรมีการให้ความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีบนโลกไซเบอร์เพื่อปกป้องตนเองและคนรอบข้างให้ห่างจากภัยอันตราย
ทางสำนักวิชาศึกษาทั่วไป สจล. เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงทำการเปิดสอนในวิชาความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient) โดยมีการให้ความรู้และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เข้าใจทัศนคติและค่านิยมต่อการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ การสร้างและบริหารจัดการอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้อย่างดีทั้งโลกออนไลน์และโลกความจริง (Digital Citizen Identity)
การบริหารเวลาในการใช้งานอุปกรณ์ยุคดิจิทัลและสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกภายนอก (Screen Time Management)
ทั้งนี้ยังให้ความรู้ด้านการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) ที่อาจก่อให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น การหลอกลวงข้อมูล (Scammer) ,การล้วงข้อมูล เว็บปลอม (Phishing) หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Vishing) ความสามารถในการรับรู้ และรับมือการคุกคามข่มขู่ กลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management)
และเมื่อรู้วิธีการป้องกันภัยจากการใช้เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการให้ความรู้เพื่อที่จะสามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลเนื้อหาที่ดีและข้อมูลที่เนื้อหาเข้าข่ายอันตราย ช่องทางการติดต่อออนไลน์ที่น่าตั้งข้อสงสัยและน่าเชื่อถือ (Critical Thinking) และเพื่อสร้างสังคมบนโลกออนไลน์ให้น่าอยู่ รวมถึงความสามารถในการเห็นอกเห็นใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ (Digital Empathy)
ส่งท้าย
สื่อดิจิทัลนั้น สร้างความสุข ความสบาย สีสัน ให้กับชีวิต ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย แต่ควรตระหนักถึงผลลัพธ์หากใช้ในทางที่ผิด หรือพลาด เพราะรู้เท่าไม่ถึงการ ทางสำนักวิชาศึกษาทั่วไปหวังว่าวิชาความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ นักศึกษา ผู้เรียน ได้รับประโยชน์ในการเรียนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี